วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

25 กันยา สุขสันวันเกิดและย้อนรำลึก (จิตร ภูมิศักดิ์)


                               

               25 กันยา สุขสันวันเกิดและย้อนรำลึก...

        จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สหายปรีชา




     จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน พ.ศ. 2473 — 5พฤษภาคม พ.ศ. 2509) เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการ และการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด
     จิตรเป็นบุตรของ นายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
    จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509 หลังเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสตืแห่งประเทศไทย โดยถูกอาสาสมัครและทหารล้อมยิง


การศึกษา

  • พ.ศ. 2479 จิตรติดตามบิดา ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนประจำจังหวัดแห่งนั้น จิตรย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. 2482 บิดาของจิตรย้ายไปรับราชการในเมืองพระตะบอง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองในการปกครองของไทย (ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา) จิตรจึงย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่นั่น
  • พ.ศ. 2490 ประเทศไทย ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ส่วนบิดานั้นไปเริ่มชีวิตครอบครัวใหม่กับหญิงอื่นๆ ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด



แนวคิดและการต่อสู

   ชื่่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็น สาราณียากร ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497
   ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่  ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน"
   ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลัยลงกรณ์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เขาถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ
   เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในนาม สหายปรีชา ต่อมาถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิต ตายด้วยกระสุนปืนที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509


ผลงาน


   จิตรมีความสามารถในด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์อย่างมาก และยังมีความสามารถระดับสูงในด้านอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลของไทยคนหนึ่ง ในด้านภาษาศาสตร์นั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลีภษาสันสกฤต ภาษาเขมร โดยเฉพาะภาษาเขมรนั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาเขมรปัจจุบันและภาษาเขมรโบราณด้วย นอกจากนี้ จิตรได้เขียนพจนานุกรมภาษาละหุ (มูเซอ) โดยเรียนรู้กับชาวมูเซอขณะอยู่ในคุกลาดยาว ในตอนแรก ชาวมูเซอไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จิตรเองก็ไม่สามารถพูดภาษามูเซอได้เช่นกัน แต่ด้วยความสามารถ เขาสามารถเรียนรู้ระบบของภาษา และนำมาใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์



งานเขียนชิ้นเด่น

  • หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว, และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ", 2519*

  • หนังสือ "ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม" (ต่อมาพิมพ์รวมเล่มกับ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" เป็น "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์")
  • หนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย"
  • หนังสือ "ภาษาและนิรุกติศาสตร์"
  • หนังสือ "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย", 2548
  • หนังสือ "โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา", 2524
  • หนังสือ "สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา", 2526
  • หนังสือ "ตำนานแห่งนครวัด"
  • เพลง "ภูพานปฏิวัติ"
  • เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา"
  • บทกวี "เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน"
  • บทกวี "อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย"
  • บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์

ผลงานที่มี * ข้างท้าย หมายถึงถูกคัดเลือกให้อยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน


นามปากกา

นามปากาของจิตรมีเป็นจำนวนมาก เช่น นาคราช1, ศูลภูวดล1, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ1, ศิลป์ พิทักษ์ชน, สมชาย ปรีชาเจริญ, สุธรรม บุญรุ่ง, ขวัญนรา, สิทธิ ศรีสยาม1, กวีการเมือง, กวี ศรีสยาม, บุคแมน, มูฟวี่แมน (มูวี่แมน) , ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์1, จักร ภูมิสิทธิ์2
*หมายเหตุ: 1 หมายถึง ใช้เพียงครั้งเดียว, 2 เป็นคำผวนของชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์



กิจกรรมนิสิตกลุ่มของจิตร  ภูมิศักดิ์ ในระยะปี พ.ศ.2498 - 2500


          1. การปลูกฝังนิสิตนักศึกษาให้เกิดความรักชาติรักประชาชน   มีการรณรงค์ให้นักศึกษาบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์เพลิงไหมที่พิษณุโลก ปี พ.ศ.2499    ในกรณีการอพยพของชาว อีสานเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นการใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ.2500  ชักชวนนิสิตจุฬาฯออกไปปฏิบัติงานตาม หัวลำโพง   ตามกรมแรงงาน  กรมประชาสงเคราะห์ในเวลาเย็น   นำอาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ไปแจกจ่าย และหาที่อยู่ตามวัดต่างๆให้ผู้อพยพชาวอีสาน  และสกัดกั้นไม่ให้ชาวอีสานถูกลวงการใช้แรงงาน  โดยมีนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตร  มหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าร่วมด้วย           

           2. การพยายามจัดตั้ง "สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" ร่วมกับนึกศึกษาจากสถาบันต่างๆ  ได้มีการ จัดทำร่างระเบียบนำเสนอขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคม  เรื่องผ่านกรมตำรวจ มาอยู่ในการพิจารณาของ กระทรวงวัฒนธรรม  แต่ต่อมาได้เกิด การรัฐประหารขึ้น   บ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดจึงไม่ได้เกิดสหพันธ์ขึ้น
 

                     "ตื่นเถิดเยาวชนไทยทั้งผองน้องพี่                                                   
                             สามัคคีรักร่วมน้ำใจ                                                
                          เยาวชนคืออาทิตย์อุทัย                                          
                     สาดแสงกำจายเรืองรองแหล่งหล้า                                     
                    ปลุกชีวิตและสร้างความหวังเจิดจา                                               
                           เพื่ออนาคตผองเพื่อนไทย                                      
                     ชาติประชารอพลังเราอันเกรียงไกร                                              
                          ด้วยดวงใจร้อนรนเรียกรอ                                           
                       มาตุภูมิและประชานั้นคือดวงใจ                                           
                       จะพิทักษ์รับใช้เทียนดวงวิญญา                                               
                        ร่วมพลังสร้างสรรค์พัฒนา                                  
ทั้งชาติและประชาไทยมุ่งสู่ความไพบูลย์"

          ทางกลุ่มได้มีการแต่งเพลงมาร์ชเยาวชนไทยไว้  ตั้งใจจะให้เป็นเพลงประจำของสหพันธ์ฯ   เป็นเพลงที่นำทำนองมาจากอินโดนีเซีย  จิตร   ภูมิศักดิ์ช่วยแต่งออกมาเป็นกลอน           3. การพยายามสร้างความสามัคคีระหว่างจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นบรรยากาศขาดความสามัคคี ด้วยจุฬาฯดูถูกธรรมศาสตร์ว่า "มหาวิทยาลัยไพร่" จบออกมาไม่มีงานทำ เป็นตลาดวิชาลูกตาสีตาสาก็มาเรียนได้ ด้านธรรมศาสตร์ก็ดูถูกจุฬาฯ ว่ามหาวิทยาลัยผู้ดี  มีแต่ลูกคนรวยเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ  และได้มีการประสานกันให้เกิด ความสามัคคี โดยอาศัยรูปการกีฬาเป็นสื่อกลาง  ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัย ทางกลุ่มได้ชูคำขวัญ ที่ก้าวหน้า เพื่อจูงให้นิสิตนักศึกษาจากสองมหาวิทยาลัยลืมลัทธิหลงมหาวิทยาลัย หันมาถือเอาอุดมการณ์รับใช้ ประชาชนร่วมกันแทน   ทางกลุ่มได้แต่งเพลง "ธรรมศาสตร์-จุฬาฯชิงชัย"  โดยมีจิตร  ภูมิศักดิ์เป็นแกนหลักในการแต่ง เนื้อร้องมีดังนี้



                          "ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย                                               

                        ทุกคนล้วนใจปลื้มเปรมปรีดิ์                                                     
                            กลุ่มเกลียวกันน้องพี่                                                
                       เพื่อความสามัคคียืนนาน                                            
                      เรามาชิงชัยชนะแพ้ใช่สิ่งสำคัญ                                
               เล่นกีฬาร่วมกันเพื่อสมานสามัคคีพร้อมหน้า                                            
                       เรามาชิงชัยแล้วใช่จักร้าวรา                                    
                    เรารับใช้ประชาในอนาคตกาลร่วมกัน                                           
                        ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย                                           
                            ธรรมศาสตร์-จุฬาลงกรณ์                                     
                   อย่าให้ใครบั่นทอนมิตรภาพของเรา"

           4. การออกหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัย  ที่ดำเนินการโดยนิสิต ชื่อว่า "เสียงนิสิต"  ออกเป็นรายปักษ์  มีคำขวัญว่า "ศึกษาเพื่อรับใช้ประชาคม"  ซึ่งออกมาได้ประมาณ 5-6 เดือน  จิตร  ภูมิศักดิ์มีข้อเขียนในหนังสือนี้ด้วย           5. การร่วมคัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก เมื่อปี พ.ศ.2500  ทางกลุ่มได้มีการออกใบปลิวเปิดโปงการโกง การเลือกตั้งของพรรคเสรีมนังคศิลาและพรรคประชาธิปัตย์           6. การร่วมแต่งเพลง "มาร์ชเยาวชนไทย"  เพลง "ธรรมศาสตร์-จุฬาฯชิงชัย"  เพลง "มาร์ชกรรมกรไทย"


            ต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500    จิตร  ภูมิศักดิ์   จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์     จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปริญญาบัตรอักษรศาสตร์บัณฑิต      จากนั้นก็เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี วิทยาลงกรณ์  และขณะเดียวกัน ก็เป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะสถาปัตยกรรม   มหาวิทยาลัยศิลปกร  พร้อมทั้งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท    สถาบันค้นคว้าเรื่องเด็กของยูเนสโก ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร  อาจารย์จิตร  ภูมิศักดิ์ สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรสัปดาห์ละ  6 ชั่วโมง โดยได้ค่าสอนชั่วโมงละ 30 บาท จากแนวคิด ของจิตร ทำให้หนังสือรับน้องใหม่ของศิลปากร ปี 2500 ออกมาแหวกแนว เช่นเดียวกับหนังสือรับน้องใหม่ของจุฬาฯ   ปี 2496 เป็นหนังสือที่ปฏิวัติแนวคิดเรื่องศิลปะอย่างขุดรากถอนโคน  ชี้นำให้เห็นว่า "ศิลปต้องเกื้อเพื่อชีวิต"      มิใช่ "ศิลปเพื่อศิลป" อย่างเลื่อนลอย  งานเขียนเรื่อง "ศิลปเพื่อชีวิต" บางตอนของจิตร ซึ่งใช้นามปากกาว่า "  ทีปกร  " ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ หนังสือรับน้องฉบับนี้ จากนั้น สำนักพิมพ์ เทเวศน์จึงได้นำไปรวมพิมพ์เป็นเล่ม  "ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะ เพื่อประชาชน"  และในปีเดียวกันนี้   จิตรได้เขียนบทความชื่อ "บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี"       ผู้เขียน   ระเด่นลันได  มีเนื้อหาล้อเลียน วัฒนธรรมศักดินา  โดยเฉพาะวรรณกรรมของชนชั้นสูงในเรื่อง "อิเหนา"  "เพลงยาวบัตรสนเท่ห์"  สะท้อนการฉ้อราษฎร์ บังหลวง  เป็นต้น 



            นามปากกา "ทีปกร" จิตร  ภูมิศักดิ์ เป็นคนคิดขึ้นเอง  ซึ่งจิตรให้คำแปลว่า "ผู้ถือดวงประทีป"  คำที่มีความหมาย อันรุ่งโรจน์โชติช่วงนี้   จิตรได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีภาษาฝรั่งเศสของ วิคเตอร์ ฮูโก ชื่อ "ความสว่างและความมืด" (Les  Rayons  et  les  Ombres, I , 1893)



                       "กวี  ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์เช่นนี้
                      ย่อมจักแผ้วทางไว้เพื่อวันคืนอันดีกว่า
                     เขาคือบุรุษแห่งยุคสมัยของความใฝ่ฝัน
                         ตีนทั้งสองเหยียบยืนอยู่    ที่นี้
                      ตีนทั้งสองเพ่งมองไปเบื้องหน้าโน้น
              เขานั่นเทียว  โดยไม่คำนึงถึงคำประณามและเยิรยอ
                       เปรียบเสมือนผู้ทำนายวิถีแห่งอนาคต
                    จักต้องกระทำสิ่งที่จะมาถึงให้แจ่มจ้า
             เสมือนหนึ่งโคมไฟในมืออันอาจรองรับสรรพสิ่งของเขา
              ซึ่งกวัดไกวจ้าอยู่เหนือศีรษะ ของมวลชนทุกกาลสมัย"

          ความคิดเรื่อง "ศิลปเพื่อชีวิต" ซึ่งถือว่าเป็นความคิดใหม่ในสมัยนั้น  ปรากฏว่า "เสฐียรโกเศศ" หรือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ตรงกับที่ "ทีปกร" เสนอ และในหนังสือรับน้องฉบับ ดังกล่าว "เสฐียรโกเศศ" ได้แปลบทความเรื่อง "ศิลปคืออะไร?" ของตอลสตอยให้   พร้อมกับอาจารย์กุหลาบ  สายประดิษฐ์ ก็ได้มอบบทความเรื่อง "ความเป็นมาของประวัติศาสตร์" ซึ่งเขียนถึง "ผู้สร้างประวัติศาสตร์ไม่ใช่กษัตริย์ แต่เป็นประชาชนผู้ทุกข์ยาก"   หนังสือรับน้องศิลปากร พิมพ์ไว้ 1,000 เล่ม  หลังจากมีการแจกหนังสือดังกล่าว ได้ถูกบรรดานักศึกษาคณะจิตรกรรม ต่อต้านและนำไปทำลายเป็นจำนวนมาก  และเกิดการชกต่อยระหว่างผู้มีแนวคิด สองแนวทาง  ได้มีการประชุมชักฟอกโดยกรรมการนักศึกษา ว่า "ทีปกร" คือใคร และได้มีนักศึกษาชายคณะจิตรกรรม ชื่อว่ากำจร  สุนพงษ์ศรี  ออกมารับสมอ้างว่า ตนคือ "ทีปกร" เพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามไป

         ตอนเช้าตรู่ของวันที่  21  ตุลาคม   พ.ศ.2501 จิตรถูกจับกุมพร้อมกับ บุคคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก  ที่ต่อสู้เพื่อ ประชาชนในข้อหา "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" และ  "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร" อันเป็นผลมาจากการยึดอำนาจและการใช้นโยบายปราบปรามของจอมพลสฤษดิ์   ธนะรัชต์ จิตรถูกจับกุมคุมขังไว้ที่ กองกำกับการสันติบาล (บริเวณโรงพยาบาลตำรวจในปัจจุบัน) ในวันที่ถูกจับกุม ได้มีลูกศิษดิ์ของจิตรหลายคนไปเยี่ยม  เมื่อนักศึกษาถามถึงว่า "อาจารย์จิตรอยู่หรือป่าวคะ" ก็มีเสียงตอบจากผู้ที่ถูก คุมขังร่วมกับจิตร ตอบกลับออกมาว่า "ถ้าเขาไม่อยู่ที่นี่แล้วเขาจะอยู่ที่ไหนละจ๊ะหนู"  จิตรถูกคุมขังตามสถานที่ต่างๆ ประมาณสามแห่ง คือ กองปราบปทุมวัน  เรือนจำลาดยาวใหญ่  และเรือนจำลาดยาวเล็ก

          จอมพลสฤษดิ์   ธนรัชต์ ใช้วิธีเหวี่ยงแห กวดเอาคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาขังไว้หมด ในลักษณะที่ ว่าจับมาสิบคนเป็นคอมมิวนิสต์หนึ่งคนก็ถือว่าใช้ได้   ภายในคุกลาดยาวเมื่อต้นปี พ.ศ.2501 จึงมีคนหลายกลุ่มมารวม กันในคุกการเมือง
          กลุ่มแรก เป็นสมาชิกองค์กรจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เช่น  เปลื้อง  วรรณศรี, อุดม  สีสุวรรณ , หนก  บุญโยดม และคนอื่นๆ
          กลุ่มที่สอง เป็นนักการเมืองแนวสังคมนิยม  เช่น  เทพ   โชตินุชิต , พรชัย  แสงชัจจ์ , เจริญ  สืบแสง และคนอื่นๆ
          กลุ่มที่สาม เป็นพวกนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์   เช่น  อุทธรณ์    พลกุล , อิศรา  อมันตกุล , สนิท  เอกชัย , เชลง    กัทลีระดะพันธ์  และคนอื่นๆ
          กลุ่มที่สี่ เป็นนักศึกษาปัญญาชน  ที่มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น  จิตร   ภูมิศักดิ์ , ประวุฒิ   ศรีมันตะ, สุธี   คุปตารักษ์  จากมหาวิทยาลัยเกษตร เช่น  นิพนธ์  ชัยชาญ , บุญลาภ  เมธางกูร และนักศึกษาหนุ่มอีกหลายคน
          กลุ่มที่ห้า เป็นชาวนาจากบ้านนอก และชาวเขาจากดอยในภาคเหนือ เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องอะไร  ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นชาวนาที่อยู่ในสายจัดตั้งของ พคท. 


         กลุ่มนักศึกษารวมกันในนาม "กลุ่มหนุ่ม" หรือ "กลุ่มเยาวชน"  โดยมีจิตร เป็นแกนหลักคนหนึ่งของกลุ่ม  ในคุกลาดยาว  องค์กรพรรคคอมมิวนิสต์ได้แยกออกเป็นสองปีก  ปีกขวาประกอบด้วยกรรมการกลางพรรคฯกับสมาชิก พรรคฯภาคใต้  ส่วนปีกซ้ายมีสมาชิกพรรคฯภาคอีสานร่วมมือกับกลุ่มหนุ่ม
          ปีซ้ายโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นพวกฝันกลางวัน หรือนักประนีประนอม "พวกฉวยโอกาสเอียงขวา" หรือ "พวก ลัทธิยอมจำนน"  ด้านปีกขวาก็โจมตีปีกซ้ายว่า เป็น "พวกโฉยโอกาสเอียงซ้าย" หรือ "พวกลัทธิสุ่มเสี่ยง"
          ในปี พ.ศ.2503  ชาวลาดยาวทั้งซ้ายและไม่ซ้ายได้รวมกัน ก่อตั้งรูปก่อร่างคณะกรรมการสามัคคีเพื่อช่วยเหลือ เพื่อนๆที่อยู่ร่วมกัน   มีการแบ่งงานออกเป็นแผนกการผลิต  แผนกการศึกษา  แผนกดนตรีและกีฬา  แผนกสวัสดิภาพผู้ ต้องขัง   โดยมีประธานคือเทพ  โชตินุชิต


        ต่อมาเมื่อวันที่   30  ธันวาคม   พ.ศ.2507  จิตร  ภูมิศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว   เนื่องจากศาลกลาโหมยกฟ้อง   รวมเวลาที่จิตรถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด  6 ปีเศษ  ระหว่างที่จิตรอยูในคุก  จิตรได้ทุ่มเวลาในการเขียน หนังสือ ผลงานเด่นๆ  ของจิตรที่เกิดขึ้นในคุก  อาทิเช่น  ผลงานแปลนวนิยายเรื่อง "แม่"  ของแมกซิมกอร์กี้ , โคทาน  นวนิยาย จากอินเดียของเปรมจันท์ (แปลไม่จบ)   และผลงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ คือ  "ความเป็นมาของคำสยาม  ไทย  ลาวและขอม และลักษณะทางสังคม ของชื่อชนชาติ"
          เดือนตุลาคม  พ.ศ.2508   จิตร   ภูมิศักดิ์ ได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน  เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับ พรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย ( พคท.) ในนาม "  สหายปรีชา  "  และในเดือนพฤศิจกายน พ.ศ.2508 สายปรีชา ได้เดินทางไปที่ บ้านดงสวรรค์  ชายป่าดงพันนาโดยมีไสว นักรบแห่งบ้านเปือยไปรอรับ  มุ่งสู่ที่มั่นกลางดงพระเจ้า ในฐานะ "คนผ่านทาง" ซึ่งจะได้รับการส่งตัวไปปฏิบัติงานในจีนตามคำขอของสหายไฟ (อัศนี  พลจันทร) ต่อ พคท.  แต่จิตรขอ เรียนรู้การปฏิวัติในชนบทไทยเสียก่อนระยะหนึ่ง
          สหายปรีชาใช้ชีวิตอยู่ที่ดงพระเจ้าได้ไม่นาน  กองทหารป่าก็ถูกกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากวาดล้าง  นับเป็นครั้ง แรกที่มีการแตกเสียงปืนในดงพระเจ้า



วันเสียงปืนแตก
          วันที่  7  สิงหาคม  พ.ศ.2508  มีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับทหารป่าเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว  อำเภอนาแก  จังหวัดนครพนม  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชน ในที่ประชุมกรมการเมืองขยายวงที่ดงพระเจ้าเมื่อเดือนกันยายน  พ.ศ.2508 ก็มีมติรับรองและอนุมัติให้ตอบโต้ฝ่าย รัฐบาลด้วยกำลังอาวุธได้   กองกำลังทหารป่าที่ยังไม่มีชื่อหน่วยมาก่อนก็ได้มีชื่อขึ้นมาบ้างแล้วว่า " พลพรรคประชาชน ไทยต่อต้านอเมริกา"  เรียกย่อๆว่า "พล.ปตอ."  ธง  แจ่มศรี(ลุงธรรม) ได้มอบหมายให้จิตร  ภูมิศักดิ์แต่งเพลง มาร์ชประจำพลพรรค ด้วย

         สหายปรีชาและพวกได้ถอยทัพจากเหล่าขี้เหล็ก  ตัดผ่านป่าไปทางบ้านส่งดาว หยุดพักพลที่บ้านบ่อแกน้อย ซึ่งมี นายพลจำปา หรือ พ่อจำปา เป็นแกนนำ  และขบวนถอยทับได้ข้ามภูผาเหล็กไปยังภูผาดง  ผ่านภูผาลมไปที่ภูผาหัก ซึ่ง ใกล้ๆกันนั้นมีหมู่บ้านผาหัก (หรือบ้านผาสุก)  และด้านข้างของหมู่บ้านเป็นภูเขาที่ชื่อว่า "ภูผาตั้ง"  ซึ่งภูผาแห่งนี้กลาย เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของทับใหญ่   สหายปรีชาได้ปฏิบัติงานมวลชนที่นี่ โดยมีสหายสวรรค์เป็น "ทหารพิทักษ์"  คอยติดตาม และเป็นเพื่อนร่วมงาน   ที่ภูผาลมสหายปรีชาได้แต่งเพลง "ภูพานปฏิวัติ" ขึ้นกลายเป็นเพลงต่อต้านอันโดดเด่นของ ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
          วันที่ พฤษภาคม  2509  สหายปรีชาและพลพรรคอีก 5 คนข้ามทางสายวาริชภูมิ-ตาดภูวง  มาทำงาน มวลชนที่บ้านหนองแปน  และบ้านคำบ่อ  ในวันรุ่งขึ้นได้ถูกล้อมปราบจากฝ่ายรัฐบาล  สายปรีชา  สหายสวรรค์และ สหายวาริช ได้หลบหนีไปทางเทือกเขาภูอ่างศอ  แต่ได้หลงทางไปถึงบ้านหนองกุงในเวลาเย็น  ด้วยความหิว  

         สหายปรีชาได้เข้าไปขอข้าวในหมู่บ้านหนองกุ่ง ที่บ้านของ นางคำดี   อำพล แต่นางคำดีได้แอบให้คนไปแจ้งแก่ กำนันคำพล  อำพน (กำนันแหลม)   เมื่อจิตรได้รับห่อข้าวก็ เดินทางออกมา ที่ชายป่าท้ายหมู่บ้านเพื่อนำห่อข้าวมาให้ กับสองสหาย  แต่ถูก กำนันแหลมและกลุ่มทหาร อส.ตามมาทัน ที่นาจารย์รวย และสหายปรีชาได้ ถูกล้อมยิงเสียชีวิต
          วันที่ 5   พฤษภาคม   พ.ศ.2509  จิตร    ภูมิศักดิ์ ถูกล้อมยิงเสียชีวิตลงที่ชายป่าบ้านหนองกุง   ตำบลคำบ่อ  อำเภอวาริชภูมิ  จังหวัดสกลนคร




 บทกวีเด่นของ จิตร ภูมิศักดิ์ 

                                       
 แสงดาวแห่งศรัทธา

                                                    พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
                                                    ส่งฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
                                                     ดั่งโคมทอง ผ่องเรืองรุ่งในหทัย
                                                  เหมือนธงชัย ส่งนำจากห้วงทุกข์ทน
                                                        พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
                                                     เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
                                                    ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
                                                      ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย
                                              ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
                                                       คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
                                                   แม้ผืนฟ้า มืดดับ เดือนลับละลาย
                                                    ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
                                                        ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง
                                              เขียนในนามปากกา "สุธรรม บุญรุ่ง"



                                                         


                                                                  เปิบข้าว

                                           เปิบข้าวทุกคราวคำ..จงสูจำเป็นอาจินต์
                                           เหงื่อกุที่สูกิน..จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                           ข้าวนี้นะมีรส...ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                                           เบื้องหลังสิทุกข์ทน..และขมขื่นจนเขียวคาว
                                           จากแรงมาเป็นรวง..ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                                           จากรวงเป็นเม็ดพราว..ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
                                           เหงื่อหยดสักกี่หยาด..ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                                           ปูดโปนกี่เส้นเอ็น..จึงแปรรวงมาเป็นกิน
                                           น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง..และน้ำแรงอันหลั่งริน
                                           สายเลือดกุทั้งสิ้น..ที่สูซดกำซาบฟัน
 








ที่มา   :    http://www.reocities.com/thaifreeman/jit/jit.html

ที่มา : http://www.google.co.th/imgres?imgurl=
ที่มา   :    http://th.wikipedia.org/wiki/
ที่มา : http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=477.msg586#msg586

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น